ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 9/2560 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการร่วมไทย-เมียนมาร์ ฝ่ายไทยสาขาการเงิน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย เขาทำงานเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 และวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 ซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ครั้งหนึ่งนาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า อยากปลดเขาทุกวันสาเหตุที่ไม่สามารถปลดได้ในขณะนั้นเนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551 และเกรงว่านายประสารจะใช้สิทธิฟ้องกลับนาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ทางศาลปกครอง โดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวตำหนิเขาอย่างรุนแรงจากกรณีที่เขาไม่ยอมลดดอกเบี้ย
ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับ นางนิศารัตน์ ไตรรัตน์วรกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีบุตร 2 คน คือ ตรัยวัชร์ และ ประวรรตน์ ไตรรัตน์วรกุล
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ดร. ประสาร ได้เป็นนักวิจัยอยู่ที่ International Food Policy Research Institute, Washington, D.C. เป็นระยะเวลา 2 ปี ดร. ประสาร กลับมายังประเทศไทย โดยเริ่มต้นทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน หลังจากนั้น ดร. ประสาร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน
ดร. ประสาร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคนที่ 19 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ดร. ประสาร เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น ดร.ประสาร ยังเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในสังคมอีกหลายตำแหน่ง เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย (TBA) ทำให้มีประสบการณ์ครอบคลุมอย่างกว้างขวางในธุรกิจธนาคารและตลาดการเงิน
ระดับประถมศึกษา โรงเรียนประสาทปัญญา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จากนั้นศึกษาต่อยังคณะคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2517 ด้วยผลคะแนนเอ็นทรานซ์แผนกวิทยาศาสตร์เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2519 ระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ปี พ.ศ. 2521 ปริญญาโท Master in Business Administration และปี พ.ศ. 2524 ระดับปริญญาเอก Doctor of Business Administration จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
ในเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้นนายประสารเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เจรจากับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คนเป็นผลสำเร็จ
ในสมัย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการแทรกแซงจากการเมืองมากที่สุด เนื่องจากมีการมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 3 รัฐบาล และมีเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองมากที่สุดในสมัยเขาดำรงตำแหน่งโดยในทุกรัฐบาลมีการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เหตุการณ์ทางการเมืองดำเนินเรื่อยมา จน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในที่สุดและสุดท้ายแล้วมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนกน้านี้รัฐบาลพลเรือนจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยนั้นแสดงความเป็นศัตรูกันอย่างชัดเจน เขาดำรงตำแหน่งภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากถึง 5 คน มีการแสดงเจตนาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่ามีความคิดจะปลดเขาทุกวัน และก่อนเกษียณ อายุราชการ ได้เกิดการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 นับว่าเป็นผู้ว่าราชการแห่งประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน ภายหลังรัฐประหาร เขายังดำรงแหน่งตำแหน่งอีกหลายตำแหน่งในคณะกรรมการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งขึ้น สื่อมวลชนในสมัยนั้นต่างแสดงความแปลกใจที่เขาสามารถดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการได้ ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคของเขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน อนุมัติให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย ต่ำสุดในรอบ 4 ปีและอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีจำนวนบัญชีหลักทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.2 ล้านบัญชีซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แม้ว่าหนึ่งคนสามารถเปิดได้หลายบัญชีก็ตามแสดงให้เห็นว่าในยุคของเขามีประชาชนนำเงินเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนมาก ในขณะที่ราคาน้ำมันโลกต่ำสุดในรอบ 6 ปีและจำนวนหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี มากถึง 12%ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2559 เขารับตำแหน่งกรรมการอิสระ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ต่อมา ในปี พ.ศ. 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2560 แต่งตั้งเขาเป็นประธานคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง มีผลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และเขารับตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย • เสริม วินิจฉัยกุล • เล้ง ศรีสมวงศ์ • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย • เล้ง ศรีสมวงศ์ • หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ • เสริม วินิจฉัยกุล • เกษม ศรีพยัคฆ์ • โชติ คุณะเกษม • ป๋วย อึ๊งภากรณ์ • พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ • เสนาะ อูนากูล • นุกูล ประจวบเหมาะ • กำจร สถิรกุล • ชวลิต ธนะชานันท์ • วิจิตร สุพินิจ • เริงชัย มะระกานนท์ • ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ • หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล • หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล • ธาริษา วัฒนเกส • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • วิรไท สันติประภพ